CODING for R-Chee wa
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของวิทยาลัยเกษตร เทคโนโลยีและประมง ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมด้วยดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารจากหน่วยงานอาชีวศึกษา ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของวิทยาลัยเกษตร เทคโนโลยีและประมง มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นยกระดับการศึกษาอาชีวะด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเกษตร พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้เยาวชนและคนในชุมชน รวมไปถึงการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และหลักสูตรชลกร ควบคู่ไปกับการนำ CODING มาเพื่อปฏิรูปวิทยาลัยเกษตรและประมง (CODING for R-Chee wa) ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาไปถึงตัวเด็กทุกคนโดยตรง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตภายใต้ยุคดิจิทัล ที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และคลุมเครือ หรือที่เรียกว่า VUCA World
นโยบายสำคัญเหล่านี้ คือ สิ่งที่ยังต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานและพลิกโฉมอาชีวศึกษาของไทยให้เข้มแข็งและเทียบเท่าสากล รวมไปถึงการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในส่วนกับภาครัฐเอง และกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทรัพยากรคน และเทคโนโลยี ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล เรียนอาชีวะ ระหว่างเรียนต้องมีรายได้ จบมาแล้วต้องมีงานทำ
“รัฐบาลและตัวดิฉันเองให้ความสำคัญกับอาชีวะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาชีวะเกษตรและเทคโนโลยี เพราะนี่คืออนาคตของชาติ เป็นกลไกที่จะขับเคลื่อน แก้วิกฤตของประเทศได้ ถ้าเราทำให้ผู้ที่เรียนเกษตรและเทคโนโลยี ประมง สามารถมีงานทำ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย ประเทศเราจะเข้มแข็งแน่นอนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เขียนไว้ชัดเจนว่า เราไม่ได้ผลิตนักเรียนที่มีความรู้ สอบได้ที่ 1 เท่านั้น แต่เราต้องการผลิตนักเรียนที่ไปทำงานได้ มีคนจ้าง นั่นคือหน้าที่ของเรา” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา ได้กล่าวขอบคุณบุคลากรจากหน่วยงานอาชีวศึกษาที่มาร่วมงานทุกท่านซึ่งถือเป็นเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ลูกน้องหรือเจ้านาย ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานมากว่า 3 ปี เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพราะรัฐบาลต้องการคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ทันต่อการเปลี่ยนแปลง นี่คือโจทย์ คือการบ้าน ที่เราต้องร่วมกันทำต่อไปเพื่อพาประเทศให้สามารถก้าวข้ามทุกวิกฤตได้
ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภาคการเกษตรของไทยเราต้องเตรียมตัวเพื่อเดินหน้าไปสู่บ้านหมายให้บ้านเมืองอยู่ในสถานะที่มีความพร้อมต่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ เชื่อว่าจะมีความเข้มข้น และรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก นั่นคือพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีรากฐานมาจากภาคเกษตร ดังนั้นภาคเกษตรจึงเป็นหัวใจของโลกใบนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้วางพื้นฐานสำคัญไว้ให้กับวิทยาลัยเกษตรและประมง ให้เป็นสถานศึกษาที่มีศักยภาพ ในการสร้างทรัพยากรเพื่อให้มีสถานะที่เข้มแข็งพอเพื่อแข่งขันในระดับโลก คือ 1. สร้างเกษตรกร 2. สร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตร และ 3. สร้างนักวิชาการภาคการเกษตร
“วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง ทั้ง 47 แห่ง มีหน้าที่หลักเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารคุณภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก วันนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อปฏิรูป ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้เริ่มตั้งแต่ตอนแรก คือมีคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย หรือยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปการจัดการศึกษาภาคเกษตรและประมง เพื่อให้วิทยาลัยเกษตร เทคโนโลยี และประมง ให้เป็นสถานศึกษาที่มีศักยภาพ”ดร.ศุภชัย กล่าว